Craft Beer ฝีมือคนไทย
‘คราฟท์เบียร์ (Craft Beer)’ ของคนไทยก็เริ่มออกตัวรันวงการมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ซึ่งถ้ามองไปถึงการผลิต ‘คราฟท์เบียร์’ นั้นไม่ได้มีความแตกต่างจากการผลิตเบียร์โดยทั่วไปมากนัก แต่สิ่งที่แตกต่างหลักๆ นั้นมีเพียงกำลังการผลิต และความกล้าที่ลองส่วนผสมพิเศษต่างๆ เช่น ธัญพืช สมุนไพร หรือผลไม้ท้องถิ่น จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมสร้างสรรค์ของเบียร์แบบทำมือก็ว่าได้ เพราะ ‘คราฟท์เบียร์’ จะมาช่วยสร้างมิติใหม่ของการดื่ม การดมกลิ่น และสัมผัสรสชาติที่แตกต่างตามเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้ผลิต
ปัจจุบันจำนวน ‘คราฟต์เบียร์ไทย’ มีในตลาดอยู่ประมาณ 60 – 70 ยี่ห้อ แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบรนด์ที่อยู่ใต้ดิน ส่วนแบรนด์ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด ก็ล้วนมาจากการย้ายฐานไปผลิตในต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม กัมพูชา เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และออสเตรเลีย แล้วนำเข้ามาผ่านขั้นตอนการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อมาขายอีกที
เราจึงไปตามดูกฎกระทรวง การอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560 ของประเทศไทยว่า ในการสร้างแบรนด์คราฟต์เบียร์นั้นต้องผ่านอะไรบ้าง ซึ่งก็พบข้อกำหนดดังนี้
1. การขออนุญาตจดทะเบียนเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
2. ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจํานวนหุ้นทั้งหมด
3. ต้องสามารถผลิตได้อย่างน้อย 10 ล้านลิตรต่อปี และมีกำลังผลิตไม่ต่ำกว่า 1 แสนลิตรต่อปี
ด้วยข้อกำหนดนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มีกำลังทุนอันน้อยนิดต้องออกไปผลิตที่ประเทศอื่น จึงเป็นสาเหตุที่คราฟต์เบียร์ไทยในตลาดมีราคาสูง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก urbancreature