ยีสต์เบียร์ ผู้ปิดทองหลังพระ
ถ้าจะกล่าวถึงคราฟเบียร์ แน่นอนว่าคอเบียร์ส่วนใหญ่จะนึกถึงเครืองดื่มพรายฟองสีอำพัน กลิ่มหอมละมุนจากฮอปหลายหลายสายพันธุ์จนน่าติดตามสืบเสาะและค้นหา ฮอปจะถูกกล่าวถึงและโดดเด่นอยู่ท่ามกลางแสงสปอร์ตไลท์บนเวทีที่มีผู้ชมจับจ้องและดูดดื่มกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์
คอคราฟเบียร์บางท่านแค่ได้กลิ่นฮอปโชยมาแต่ไกล ก็สามารถแยกแยะสายพันธุ์ของฮอปได้ รวมถึงจดจำชื่อเสียงเรียงนามได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็น Cascade, Citra, Simcoe, Hallertau ฯลฯ คอเบียร์ส่วนใหญ่ทั่วโลกก็เป็นกันแบบนี้ ถ้าคุยถึงคราฟเบียร์ที่ใหนๆ ก็ตาม จะมีคำถามตามมาเสมอว่า ใช้ฮอปอะไร? ดรายฮอปกี่รอบ? ดรายฮอปรอบที่สองกี่วัน? ใช้ปริมาณฮอปกี่กรัม?
ทว่าหลายคนต่างหลงลืมกันไปว่า พื้นฐานของเอลเบียร์นั้น ยีสต์เบียร์ คือหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญมาก แต่ก็มักจะถูกกล่าวถึงน้อยมากเช่นกัน หลายคนไม่รู้จักหรือจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ยีสต์เบียร์ มีชื่อเสียงเรียงนามอะไรบ้าง Saccharomyces cerevisiae คอเบียร์หลายคนทั่วโลกยังออกเสียงไม่ถูกเลยก็ว่าได้
กระบวนการหมักเบียร์ เป็นกระบวนการที่ยีสต์กินน้ำตาลและเผาผลาญให้เป็นคาร์บอนไดออกไซค์ (CO2) และแอลกอฮอล์ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการคราฟเบียร์คือการควบคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ยีสต์เบียร์มีสุขภาพดี ทำงานอย่างมีความสุข ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วรสชาติของเบียร์จะออกมาไม่ดีเท่าที่ควร บิวเวอร์จะต้องคอยตรวจสอบสุขภาพของยีสต์เบียร์ คอยดูแลสภาพแวดล้อมตลอดจนควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับที่ยีนสต์แต่ละสายพันธุ์ต้องการ ยีสต์เราจะต้องไม่เครียด ยีสต์บางชนิดถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปเค้าจะกินน้ำตาลอย่างมูมมาม จนทำให้เกิดกลิ่นและรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ในน้ำเบียร์ของเรา หรือถ้าอุณหภูมิต่ำเกินไป ยีสต์ก็จะง่วงเหงาหาวนอน ไม่อยากกินอาหาร ขี้เกียจทำงานไปทั้งอย่างนั้น
ยีสต์เบียร์จึงเป็นเหมือนพระเอกผู้ปิดทองหลังพระในงานคราฟเบียร์ ที่มีผู้คนจดจำและกล่าวถึงค่อนข้างน้อย แต่ถ้ายีสต์ของเราสุขภาพไม่ดี ต่อให้เบียร์เรามีฮอปชั้นเลิศแค่ใหน คราฟเบียร์ที่ออกมาอาจจะต้องเททิ้งทั้งถังก็เป็นได้…