หลายๆคนที่ชื่นชอบในคราฟเบียร์อยู่แล้ว อาจจะเคยสงสัยว่าคราฟเบียร์มันทำอย่างไร? ใช่ไหม?ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักค่า OG และ FG คนทั่วไปอาจจะไม่ค่อยรู้จักค่านี้เท่าไหร่ แต่สำหรับคนทำเบียร์เป็นสิ่งที่ต้องรู้ว่ามันคืออะไร เพราะมันมีผลในการหมักเบียร์ เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว งั้นเราก็มาเริ่มรู้จักค่า OG และ FG กันเลยดีกว่า
เริ่มต้นด้วยค่า OG ซึ่งย่อมาจาก Original Gravity โดยค่านี้เป็นหน่วยวัดความหนาแน่นของสารละลายในน้ำเวิร์ธก่อนการหมัก ส่วนอีกค่าหนึ่งก็คือค่า FG ย่อมาจาก Final Gravity หน่วยวัดความหนาแน่นของสารละลายในน้ำเวิร์ธหลังการหมักนั่นเอง ขอเสริมอีกนิดนึง ทุกคนสังเกตคำๆนึงมั้ยคะ คำว่า Gravity ที่อยู่ในชื่อเต็มของทั้งสองค่านั้น ถ้าหากเราแปลเป็นภาษาไทย คำนี้จะหมายถึงค่าความถ่วงค่ะ ก็คือหน่วยที่ใช้สำหรับบ่งบอกความหนาแน่นของของเหลวเมื่อเทียบกับน้ำ โดยค่าทั้งสองนี้ เราจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า ไฮโดรมิเตอร์ (Hydrometer) ในการวัดความหนาแน่นของสารละลายในน้ำเวิร์ธ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแท่งแก้ว
สำหรับตัวบริวเวอร์หรือคนที่กำลังศึกษาเรื่องการผลิตเบียร์ก็คงรู้อยู่แล้วว่าภายในน้ำเวิร์ธ จะมีน้ำตาลละลายอยู่ด้วย ดังนั้นการที่เราใช้ไฮโดรมิเตอร์วัดน้ำเวิร์ธ ก็เปรียบเสมือนการวัดปริมาณน้ำตาลภายในนั่นเอง ถ้าหากใครเคยทำ เคยเรียน หรือเคยดู เราจะเห็นขั้นตอนการปรุงน้ำเวิร์ธที่ ซึ่งจะได้หลังจากขั้นตอนการทำ Mashing ของการผลิตเบียร์ แล้วบริวเวอร์ก็จะตวงน้ำเวิร์ธส่วนหนึ่ง หลังจากนั้นก็จะนำมาใส่ที่ตัวไฮโดรมิเตอร์เพื่อทำการบันทึกค่าที่อ่านได้เอาไว้ ค่าที่ได้ก่อนการหมักนี้เองที่เราเรียกว่า ค่า OG หรือเรียกเต็มๆว่า Original Gravity ในช่วงที่เรากำลังหมักเบียร์อยู่นั้น บริวเวอร์ก็จะมีหน้าที่ที่ต้องทำก็คือเก็บตัวอย่างน้ำเบียร์ที่หมักอยู่มาวัดค่าทุกๆวันเพื่อที่จะได้รู้ถึงปริมาณน้ำตาลมีเหลือมากน้อนเพียงใด เพราะในการหมักเบียร์น้ำตาลจะค่อยๆ ถูกยีสต์กินไป และค่าที่เราวัดนี้เองก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงเวลาที่เราได้ทำการหมักเบียร์เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว เราก็จะนำน้ำเบียร์มาวัดดูอีกครั้ง ค่าที่เราวัดหลังการหมักจบแล้วก็คือค่า FG หรือที่มีชื่อเต็มว่า Final Gravity ที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้นนั่นเอง ซึ่งค่าที่ได้เหล่านี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วเราจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ยังไง? สาวกเบียร์ คนทำเบียร์คงจะรู้จักค่า ABV หรือแปลเป็นไทยว่า ปริมาณของแอลกอฮอล์ (ปริมาณ % ของเอธานอลต่อปริมาตรเครื่องดื่ม) ซึ่งถ้าดูจากสูตรการหาค่า ABV จะเห็นได้ว่า เราสามารถนำค่าทั้งสองนี้ไปคำนวณเพื่อหาปริมาณของแอลกอฮอล์ที่เกิดขึ้นได้ และนี่เองคือที่มาของค่า OG และ FG ที่บริวเวอร์ทุกคนจะต้องรู้จักเป็นอย่างดี